ฟิกเกอร์สเก็ตกับแนวทางสู่ความยั่งยืน

ภาพ “น้องมอส” ณัฏฐพัฒน์ กาญจน์ชริน นักกีฬาสปีดสเก็ตติ้งทีมชาติไทย นำธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดที่นครโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นประวัติศาสตร์ของสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย ที่สร้างผลงานสร้างประวัติศาสตร์ จากการส่งนักกีฬาผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาวเป็นครั้งแรก

เป้าหมายต่อไปที่สูงขึ้นของสมาคม คือการสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยการส่งนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกว่าถึงดวงดาวได้นั้น หนทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เป็นเรื่องที่ถือว่ายากสำหรับประเทศเขตร้อนที่ไม่มีหิมะ และกับกีฬาที่ขึ้นชื่อว่ายากที่สุดในโลก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ล้วนส่งผลต่อการพัฒนานักกีฬาเพื่อไปสู่เป้าหมายในระดับนานาชาติ ทั้งสมาคมกีฬาที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ฝึกสอนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ปกครองของนักกีฬา รวมไปถึงตัวนักกีฬาเอง ซึ่ง ผศ. สิทธิชัย ปรัชญารัติกุล เลขาธิการและเหรัญญิกของสมาคม ได้กล่าวถึงการพัฒนานักกีฬาว่า สมาคมไม่ได้มองแต่เพียงรางวัลความสำเร็จ หรือการเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวเท่านั้น แต่เรามองถึงการพัฒนานักกีฬาอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ

การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสมาคมคือ การเฟ้นหา คัดเลือกนักกีฬาหน้าใหม่เพื่อฝึกฝนต่อยอดความสำเร็จของรุ่นพี่ และเมื่อไม่ได้เป็นนักกีฬาแล้ว ก็สามารถต่อยอดไปเป็นผู้ฝึกสอน โค้ช หรือเป็นกรรมการผู้ตัดสินแบบที่ "น้องแวว" รดา ล่ำซำ อดีตนักฟิกเกอร์สเก็ตทีมชาติไทย ที่ก้าวไปเป็นกรรมการของสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ [ISU] มาได้กว่า 1 ปีแล้ว

น้องแวว รดา ในวัย 25 ปี หลังจากการรับใช้ชาติในฐานะนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต ก็เริ่มต้นจากการตัดสินในระดับประเทศและระดับอาเซียน ก่อนจะสอบการเป็นผู้ตัดสินตามมาตรฐานของสหพันธ์ในปีที่ผ่านมา จนสามารถตัดสินในระดับนานาชาติได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้รู้สึกภูมิใจที่สามารถเป็นตัวแทนของคนไทย ไปตัดสินทัวร์นาเม้นต์การแข่งขันต่าง ๆ ที่น้อง ๆ คนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขัน และมีความสุขกับงานที่ทำจนตั้งเป้าหมายในอนาคต ว่าจะเป็นกรรมการตัดสินของสหพันธ์ในแมตซ์ระดับโลกให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า พร้อม ๆ กับการเห็นนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตของไทยไปร่วมแข่งขันในรายการเดียวกัน